สงครามอิรัก 20ปีผ่านไป ความสูญเสียยังอยู่
สงครามอิรัก เป็นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในประเทศอิรักตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม 2003 ด้วยการรุกรานอิรักโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตร โดยอ้างว่าอิรักมีอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง (WMD) ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของสหรัฐฯ และพัธมิตร
อย่างไรก็ตาม ภายหลังจากสงครามสิ้นสุดลง ไม่เคยพบหลักฐานที่ชัดเจนว่าอิรักมี WMD เลย สงครามอิรัก กินเวลานานถึง 8 ปี ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ทั้งทหารและพลเรือน สงครามครั้งนี้ยังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากนานาชาติ ว่าเป็นการรุกรานประเทศอื่นโดยมิชอบธรรม
แต่สิ่งที่ผู้คนรับรู้ได้อย่างแน่ชัดก็คือ เหตุผลของการก่อสงครามครั้งนั้นมาจากเรื่องโกหก ซึ่งเป็นอีกภาพในความทรงจำของผู้คนอีกภาพหนึ่งเกี่ยวกับสงครามอิรัก นั่นคือ ครั้งที่คอลิน พอเวลล์ (Colin Powell) รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ปราศรัยเมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2003 หรือหกสัปดาห์ก่อนสงครามจะปะทุขึ้น โดยใช้เวลา 76 นาทีในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ประกาศความเห็นชอบให้มีการทำสงคราม ด้วยเหตุผลว่า ซัดดัม ฮุสเซน สะสมอาวุธชีวภาพและเคมีไว้ในครอบครองจำนวนมาก อีกทั้งรัฐบาลของเขายังให้การสนับสนุนขบวนการก่อการร้ายสากลและแอบซุ่มประดิษฐ์อาวุธนิวเคลียร์
มีการนำเสนอภาพประกอบคำกล่าวอ้าง เป็นภาพจากฝ่ายตรวจสอบอาวุธแสดงถึงการดัดแปลงขบวนรถบรรทุกของอิรักที่แล่นเข้า-ออกห้องทดลองอาวุธเคมีและชีวภาพ คำปราศรัยของพอเวลล์กลายเป็นที่จดจำ นั่นเพราะสิ่งที่เขากล่าวทั้งหมดนั้นไม่เป็นความจริง แม้แต่ตัวเขาเองยังเคยสารภาพในปี 2005 ว่า การปราศรัยครั้งนั้นคือมลทินในประวัติการทำงานของตน
ผู้มีบทบาทสำคัญ ในสงครามครั้งนี้
- ดิก เชนีย์
รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในรัฐบาลจอร์จ ดับเบิลยู บุช ผู้นี้คือผู้สนับสนุนคนสำคัญของปฏิบัติการทางทหารต่ออิรัก เขาเคยกล่าวหารัฐบาลซัดดัม ฮุสเซน อย่างเปิดเผยหลายครั้งว่ามี “อาวุธอานุภาพทำลายล้างสูง” (weapons of mass destruction หรือ WMD) ในครอบครอง ซึ่งเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เป็นเหตุผลในการทำสงครามกับอิรัก
ขณะที่อิรักตกอยู่ท่ามกลางการสู้รบระหว่างนิกายย่อยต่าง ๆ ในศาสนา ในปี 2006 นายเชนีย์ก็เข้าไปเกี่ยวข้องในอุบัติเหตุรุนแรงเช่นกัน เมื่อยิงคู่หูล่าสัตว์เข้าที่ใบหน้า ลำคอ และหน้าอกโดยไม่ตั้งใจ
- จอร์จ ดับเบิลยู บุช
ในปี 2003 จอร์จ ดับเบิลยู บุช ได้กลายเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนที่สองที่ทำสงครามกับอิรัก ตามรอยของ จอร์จ บุช ผู้พ่อ ที่ดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ ระหว่างปี 1989-1993
ในสัปดาห์หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 ในปี 2001 ประธานาธิบดีบุชผู้ลูกได้รับคะแนนสนับสนับสนุนสูงสุดจากประชาชน (91% ตามการสำรวจของแกลลัพ) แต่การบัญชาการสงครามอิรักของเขา ซึ่งคร่าชีวิตทหารอเมริกันไปกว่า 4,400 นาย ก็ทำให้เขาพ้นจากตำแหน่งในปี 2009 ไปด้วยคะแนนนิยมต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์นับตั้งแต่มีการจัดทำโพลมา
- มูฮัมหมัด ซาอีด อัล-ชาห์ฮาฟ
อัล-ชาห์ฮาฟ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีข่าวสารของอิรักในช่วงสงครามปี 2003 และได้รับสมญานามจากสื่อตะวันตกว่า Comical Ali หรือ “อาลีตัวตลก” เนื่องจากการแถลงข่าวประจำวันที่เต็มไปด้วยสีสัน ซึ่งรวมถึงการประกาศว่ากองทัพสหรัฐฯ จะต้องพ่ายแพ้ในสงครามครั้งนี้
ปัจจุบันไม่มีใครทราบแน่ชัดว่าเขาอาศัยอยู่ที่ใด แต่เชื่อว่าเขาได้หลบหนีไปอยู่ในสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
- ฮานส์ บลิกซ์
ฮานส์ บลิกซ์ เป็นนักการทูตและนักการเมืองชาวสวีเดนผู้นำคณะกรรมการของยูเอ็นที่มีหน้าที่ตรวจสอบการครอบครองอาวุธอานุภาพทำลายล้างสูงของอิรัก และในท้ายที่สุดก็ไม่พบอาวุธดังกล่าวในช่วงก่อนที่สหรัฐฯ และชาติพันธมิตรจะยกทัพบุกอิรักในปี 2003
ปัจจุบันนายบลิกซ์อาศัยอยู่ในกรุงสตอกโฮล์ม และยังมีบทบาทในการอภิปรายเรื่องนโยบายความมั่นคงระหว่างประเทศ เขายังเตรียมออกหนังสือเล่มใหม่ที่ชื่อ A Farewell to Wars ในวัย 94 ปี
- ซัดดัม ฮุสเซน
ซัดดัมปกครองอิรักอย่างกดขี่และโหดร้ายระหว่างปี 1979-2003 แม้จะรอดพ้นจากการถูกโค่นอำนาจของกองกำลังผสมที่นำโดยสหรัฐฯ ในสงครามอ่าวเปอร์เซียปี 1990-91 แต่เขาก็ถูกบีบให้ถอนกำลังทหารออกจากคูเวต ซึ่งถูกกองทัพอิรักเข้ารุกรานในเดือน ส.ค. 1990
ซัดดัมถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอในปี 2006 ที่กรุงแบกแดด สถานีโทรทัศน์ของทางการอิรักถ่ายทอดภาพของอดีตผู้นำเผด็จการถูกนำตัวไปยังตะแลงแกงในช่วงก่อนรุ่งเช้าที่อาคารหลังหนึ่งซึ่งหน่วยข่าวกรองของเขาเคยใช้เป็นสถานที่ประหารชีวิตผู้คน เขาแสดงการขัดขืนครั้งสุดท้าย ด้วยการปฏิเสธการสวมผ้าคลุมศีรษะ
- มุนตาเดอร์ อัล-ไซดี
มุนตาเดอร์ อัล-ไซดี ผู้สื่อข่าวชาวอิรักเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกหลังจากก่อเหตุปารองเท้าใส่ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ที่ร่วมแถลงข่าวกับผู้นำอิรักในกรุงแบกแดกเมื่อเดือน ธ.ค. 2008 ก่อนพ้นจากตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ “นี่คือจูบอำลาจากคนอิรัก ไอ้สุนัข” นายอัล-ไซดี ร้องตะโกนขณะปารองเท้าใส่ผู้นำสหรัฐฯ
การกระทำดังกล่าวทำให้นายอัล-ไซดี ถูกจำคุก 6 เดือน ซึ่งเขาอ้างว่าได้ถูกทรมานในช่วงเวลานั้น เมื่อพ้นโทษเขาได้ย้ายไปอยู่ประเทศเลบานอน ก่อนจะกลับคืนสู่อิรักเพื่อสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในปี 2018 แต่ต้องประสบความล้มเหลว
วันที่ 21 ตุลาคม 2011 ประธานาธิบดีโอบามาประกาศว่า กองทัพและครูฝึกสหรัฐจะออกจากอิรักภายในสิ้นปี ทำให้ภารกิจของสหรัฐในอิรักถึงคราวสิ้นสุด วันที่ 15 ธันวาคม 2011 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมสหรัฐ เลออน พาเนตตา ประกาศให้ สงครามอิรัก ยุติลงอย่างเป็นทางการ ที่พิธีลดธงชาติในกรุงแบกแดด
ติดตามเรื่องราว : สึนามิ