การประชุม APEC2003
APEC 2003 เป็นการประชุมระหว่าง 21 ประเทศสมาชิกความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งมีกำหนดจัดขึ้นที่ประเทศไทย ตลอดทั้งปี 2003 มีการประชุมหลายครั้งทั่วประเทศไทยเพื่อหารือเกี่ยวกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบันและนโยบายระดับโลกในอนาคต มีการประชุมสุดยอดผู้นำเขตเศรษฐกิจในวันที่ 20-21 ตุลาคม 2003 ที่ ทำเนียบรัฐบาล และพระที่นั่งอนันตสมาคม กรุงเทพมหานคร ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ของสหรัฐ ได้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ ก่อนจะเดินทางไปเยือนอินโดนีเซีย ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และออสเตรเลียต่อ โดยมีการกำหนดประเด็นสำคัญที่อาจเกิดขึ้นระหว่างการประชุมเอเปค และการเยือนเอเชียตะวันออกของประธานาธิบดีบุช
การประชุม APEC ในครั้งนั้น นับเป็นการประชุมที่พลิกโฉมการประชุม APEC อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยเฉพาะการเลือกสถานที่ในการประชุมเป็นสถานที่มีความโดดเด่น ที่มีสถาปัตยกรรมและทรงคุณค่าทางประวัติศาสตร์ ทั้งตึกไทยคู่ฟ้าและตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล อีกทั้งยังได้รับพระบรมราชานุญาตจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ให้ใช้พระที่นั่งอนันตสมาคม ในการจัดประชุมวันสุดท้าย ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยประกอบรัฐพิธีสำคัญตลอดมา ส่วนรูปแบบการประชุม เป็นการจัดประชุมที่นั่งเป็นรูปเกือกม้า ไม่มีโต๊ะ พูดคุยกันในวงโซฟาในรูปแบบการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ เพื่อสร้างบรรยากาศให้มีความเป็นกันเองมากยิ่งขึ้น
ช่วงค่ำวันที่ 20 ตุลาคม 2003 กองทัพเรือเป็นเจ้าภาพในการจัดเลี้ยงอาหารค่ำอย่างเป็นทางการ โดยเลือกกรมสารวัตรทหารเรือ ซึ่งเป็นสถานที่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา พร้อมมีการพาชมการแสดงแสง สี เสียง การจัดกระบวนพยุหยาตราทางชลมารค และจัดเตรียมอาหารทุกมื้อเป็นอาหารไทยล้วน นอกจากนี้ มีการจัดสรรผ้าไทยให้แต่ละผู้นำได้สวมใส่ โดยเฉพาะในการประชุมวันสุดท้ายที่มีการถ่ายรูปหมู่ ผู้นำทั้ง 21 สวมเสื้อผ้าไทย ยืนยิ้มให้กล้องที่มีเบื้องหลังคือพระที่นั่งอนันตสมาคม ขณะที่การเลี้ยงต้อนรับผู้นำแขกผู้มาเยือน ได้รับความพอใจอย่างมากเช่นเดียวกัน
อีกทั้งมีการเตรียมความพร้อมในพิธีต้อนรับและความปลอดภัยอย่างดี หลังจากการประชุม APEC ได้สิ้นสุดลง ประเทศไทยได้มีข้อตกลงร่วมกับบางเขตเศรษฐกิจในกลุ่มประเทศสมาชิก APEC ทันที เช่น ข้อตกลงด้านการค้าและการลงทุนกับประเทศจีน หรือความตกลงสภาอุตสาหกรรมระหว่างไทยและรัสเซีย เป็นต้น
APEC2003 ผู้นำมาครบ
การประชุม APEC 2003 ครั้งที่ 15 มี ทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรี จัดการประชุมในธีม ‘A World of Differences: Partnership for the Future’ หรือ โลกแห่งความแตกต่าง: หุ้นส่วนเพื่ออนาคต’ โดยรัฐบาลเห็นว่า การประชุม APEC จะมีบทบาทมากขึ้นในการที่จะช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจสมาชิก
การประชุมครั้งนั้น แม้จะเป็นการจัดเวทีใหญ่ระดับนานาชาติครั้งแรกของประเทศไทย หลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง และการแพร่ระบาดของโรคซาร์ส แต่ได้รับการตอบรับจากผู้นำเข้าร่วมการประชุมทั้ง 21 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก
- จอห์น โฮเวิร์ด นายกรัฐมนตรีออสเตรเลีย
- สมเด็จพระราชาธิบดีสุลต่านฮัสซานัล โบลเกียห์ ประมุขแห่งบรูไนดารุสซาลาม
- ฌ็อง เครเตียง นายกรัฐมนตรีแคนาดา
- ริคาร์โด ลากอส ประธานาธิบดีชิลี
- หูจิ่นเทา ประธานาธิบดีสาธารณรัฐประชาชนจีน
- ตุง ชีฮวา ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฮ่องกง
- เมกาวาตี ซูการ์โนบุตรี ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย
- จุนอิจิโร โคอิซูมิ นายกรัฐมนตรีญี่ปุ่น
- โนห์มูฮยอน ประธานาธิบดีเกาหลีใต้
- ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
- บิเซนเต ฟ็อกซ์ เคซาดา ประธานาธิบดีเม็กซิโก
- เฮเลน คลาร์ก นายกรัฐมนตรีนิวซีแลนด์
- เซอร์ ไมเคิล ที. โซมาเร นายกรัฐมนตรีปาปัวนิวกินี
- ดร.อเลฮานโดร โตเลโด มันริเก้ ประธานาธิบดีเปรู
- กลอเรีย มาคาปากัล อาร์โรโย ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์
- วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีสหพันธรัฐรัสเซีย
- โก๊ะจ๊กตง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์
- ดร.หยวน ที.ลี ผู้แทนผู้นำเศรษฐกิจไต้หวัน
- จอร์จ ดับเบิลยู. บุช ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา
- ฟาน วัน ขาย นายกรัฐมนตรีเวียดนาม
การประชุมครั้งนั้นส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่จับตามองในระดับนานาชาติ จากการเป็นประเทศเจ้าภาพ ที่สามารถพาผู้นำประเทศมหาอำนาจ และประเทศเขตเศรษฐกิจขนาดใหญ่มาอยู่บนเวทีประชุมเดียวกันได้สำเร็จ
เทียบระหว่าง 2003 กับ 2022
เสียงวิพากษ์วิจารณ์ต่อการเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ของ พล.อ.ประยุทธ์ ภายใต้งบประมาณ 3,283 ล้านบาท กับวาระหลักในการผลักดันการประชุมไปสู่ผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม กลับถูกตอกย้ำถึงความไร้ประสิทธิภาพ เพราะประชาชนเห็นแค่การประชาสัมพันธ์อาหารเสิร์ฟให้ผู้นำเขตเศรษฐกิจ แทนที่เจ้าของภาษีจะได้ทราบว่าการประชุมในครั้งนี้จะส่งผลอย่างไรต่อปากท้องของคนไทยทั้งชาติ ข้อวิจารณ์ของประชาชนยังสะท้อนภาพกลับไปสู่การเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC 2003 ซึ่งนำโดย ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี
- การประชุม APEC 2003 ยุคทักษิณ
ในการประชุม APEC 2003 ในยุคสมัยของทักษิณ เกิดขึ้นหลังจากวิกฤตต้มยำกุ้งเมื่อปี 1997 ที่ทำให้ภาคการเงินของไทยประสบกับภาวะฟองสบู่แตกเพียง 4 ปี ภายหลังจากวิกฤตลอยตัวค่าเงินบาท ไทยเลือกทักษิณขึ้นสู่การเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของประเทศ พร้อมนโยบายไม่เดินตามก้น IMF ในปีเดียวกันกับการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม APEC รัฐบาลพรรคไทยรักไทยระบุว่า ตนสามารถปลดหนี้ IMF ได้เด็ดขาด พร้อมกันเป็นเจ้าภาพการประชุม APEC ภายใต้คำขวัญ “โลกแห่งความแตกต่าง : หุ้นส่วนเพื่ออนาคต (Different worlds: Partnership for the Future)”
- การประชุมยุคประชุม APEC 2022 ที่นำโดย พลเอกประยุทธ์
ประเด็นหลักที่น่าจับตาในการประชุมครั้งนี้ คือ ไทยและทุกเขตเศรษฐกิจในการประชุม APEC 2022 เห็นพ้องยอมรับและสนับสนุน BCG Model ที่จะขับเคลื่อน APEC ในอนาคต อันประกอบด้วย 3 ส่วนสำคัญ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy) โดยเป็นการนำความหลากหลายทางชีวภาพของ APEC และไทยมาใช้ประโยชน์ทางเศรษฐกิจ, เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศให้คุ้มค่าเกิดของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด รวมทั้งนำของเหลือใช้หรือผลิตผลที่ได้มาใช้ซ้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดทางเศรษฐกิจ และนำของที่ใช้แล้วมารีไซเคิลเพื่อเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุด และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจทั้งการผลิตและบริการเพื่อให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
แม้ประชาชนจำนวนมากจะมองว่าการประชุม APEC 2022 ไม่ได้ส่งผลประโยชน์ในเชิงรูปธรรมใดๆ ต่อประเทศไทย โดยเฉพาะประชาชนชาวไทยทั่วไป นอกเหนือไปจากการต่อมรดกความภาคภูมิใจของ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะเจ้าภาพการประชุม APEC 2022 ที่มีผู้นำจากนานาชาติเข้าร่วมการประชุมด้วย มันจะเป็นไปได้หรือไม่ว่า การเป็นเจ้าภาพของ พล.อ.ประยุทธ์ฺ ไม่ได้เป็นไปเพื่ออะไรนอกเหนือไปจากการเลียแผลอดีตผู้นำที่ยึดอำนาจ จนถูกประชาคมโลกหันหลังไม่ยอมรับ
ติดตามเรื่องราว : สงครามอิรัก